ชื่อโครงการ
26
การพัฒนาคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวน เรื่องเวกเตอร์ The Development of Computer – Assisted Instruction Program in the Revision of “Vector”
บทคัดย่อ ( Abstract )
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อหาประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวนเรื่องเวกเตอร์ (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างนักศึกษาที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวนเรื่องเวกเตอร์ กับนักศึกษาที่เรียนตามปกติ (3) เพื่อวัดความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวนเรื่องเวกเตอร์ ประชากรเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาแคลคูลัส1สำหรับวิศวกร คณะวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ภาคเรียนที่ 1/2552 จำนวน 729 คน 22 ห้องเรียนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการหาประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวนเรื่องเวกเตอร์ เป็นนักศึกษาสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ซึ่งได้จากการสุ่มแบบเจาะจงที่มีคะแนนพื้นฐานทางคณิตศาสตร์เท่ากันจำนวน 2 ห้อง แล้วทำการจับฉลากได้ห้องทดลองจำนวน 32 คน และอีกห้องได้เป็นห้องควบคุม จำนวน 28 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ (1) คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวนเรื่องเวกเตอร์ (2) แบบทดสอบก่อนเรียนและแบบทดสอบหลังเรียนและ (3) แบบวัดความพึงพอใจ ของนักศึกษาที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวนเรื่องเวกเตอร์ การเก็บรวบรวมข้อมูลดำเนินการโดยนำคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวนเรื่องเวกเตอร์ ที่จัดทำขึ้นไปทดสอบประสิทธิภาพด้วยการทดสอบแบบเดี่ยว ทดสอบแบบกลุ่มเล็ก และทดสอบภาคสนาม วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาประสิทธิภาพ E1 / E2 ใช้ t-test เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างนักศึกษาที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวนเรื่องเวกเตอร์ กับนักศึกษาที่เรียนตามปกติ และใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิตและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเพื่อวัดความพึงพอใจของนักศึกษาที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวนเรื่องเวกเตอร์ ผลการวิจัยพบว่า (1) ประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวนเรื่องเวกเตอร์ จากการทดลองภาคสนาม มีประสิทธิภาพ E1 / E2 โดยรวมมีค่า 86.14 / 80.14 ซึ่งเนื้อหารายหน่วยของเวกเตอร์ในระบบพิกัดฉาก การดำเนินการเชิงเลขคณิตของเวกเตอร์ ผลคูณเชิงสเกลาร์และผลคูณเชิงเวกเตอร์ มีประสิทธิภาพ E1 / E2 เรียงตามลำดับดังนี้ 88.82/82.76, 87.54/81.48, 85.03/77.01 และ 86.14/80.14 (2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างนักศึกษาที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวนเรื่องเวกเตอร์ สูงกว่านักศึกษาที่เรียนตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ (3) ความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับทบทวนเรื่องเวกเตอร์ โดยรวมอยู่ในระดับ ‘มาก’ ในด้านกระบวนการอยู่ในระดับ ‘มากที่สุด’ นอกนั้นอยู่ในระดับ ‘มาก’ ได้แก่ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านผลลัพธ์ และด้านผลกระทบ
เอกสารโครงการ( Paper )
ผู้เขียน ( Authors )
- อัครวุฒิ จินดานุรักษ์
ข้อมูลโครงการวิจัย
วันที่อัพเดตข้อมูลล่าสุด
2017-07-25 08:04:18