รายละเอียดวารสารวิชาการ

ชื่องานวิจัย ( Article Name)

การศึกษาความเป็นไปได้ในการกำจัดโลหะหนักออกจากน้ำเสียโดยใช้ใบมันสำปะหลังดัดแปร

บทคัดย่อ ( Abstract )

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการกำจัดโลหะหนัก(ทองแดง โครเมียม ตะกั่ว) ออกจากน้ำเสียสังเคราะห์โดยใช้ใบมันสำปะหลังดัดแปร ทดลองโดยการเตรียมตัวดูดซับจากใบมันสำปะหลังชนิดดัดแปร ด้วยกรดซัลฟิวริกและศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการกำจัดโลหะหนักออกจากน้ำเสียสังเคราะห์ได้แก่ ความเข้มข้นเริ่มต้นของโลหะในน้ำเสียสังเคราะห์ ค่าพีเอชเริ่มต้นของน้ำเสียสังเคราะห์ น้ำหนักของตัวดูดซับจากใบมันสำปะหลังและเวลาที่ใช้ในการดูดซับ จากผลการทดลองพบว่าสภาวะที่เหมาะสมในการกำจัดโลหะทองแดงออกจากน้ำเสียสังเคราะห์โดยใช้ใบมันสำปะหลังดัดแปรได้แก่ ความเข้มข้นเริ่มต้นของทองแดง 80 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าพีเอชเริ่มต้นของน้ำเสียสังเคราะห์เท่ากับ 5 น้ำหนักใบมันสำปะหลังดัดแปร 0.3 กรัม เวลาที่ใช้ในการดูดซับ 1 ชั่วโมง สภาวะที่เหมาะสมในการกำจัดโครเมียมออกจากน้ำเสียสังเคราะห์ได้แก่ ความเข้มข้นเริ่มต้นของโครเมียม 80 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าพีเอชเริ่มต้นเท่ากับ 5 น้ำหนักใบมันสำปะหลังดัดแปร 0.2 กรัม เวลาที่ใช้ในการดูดซับ 1 ชั่วโมง สภาวะที่เหมาะสมในการกำจัดตะกั่วออกจากน้ำเสียสังเคราะห์ได้แก่ ความเข้มข้นเริ่มต้นของตะกั่ว 150 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าพีเอชเริ่มต้นเท่ากับ 5 น้ำหนักใบมันสำปะหลังดัดแปร 0.3 กรัม เวลาที่ใช้ในการดูดซับ 1 ชั่วโมง เมื่อทำการทดลองที่สภาวะที่เหมาะสมพบว่าประสิทธิภาพในการกำจัดโลหะทองแดง โครเมียม และตะกั่วเท่ากับ 98, 97 และ95 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ใบมันสำปะหลังดัดแปรที่เตรียมได้ในงานวิจัยนี้วิเคราะห์หมู่ฟังก์ชันทางเคมีด้วยเครื่องฟลูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟาเรดสเปคโตรมิเตอร์ และศึกษาลักษณะโครงสร้างจุลภาคด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด จากผลการทดลองใบมันสำปะหลังดัดแปรสามารถใช้เป็นตัวดูดซับในการกำจัดโลหะทองแดง โครเมียม และตะกั่วออกจากน้ำเสียได้

เอกสารวิจัย ( Paper )

VIEW

ผู้เขียน ( Authors )

  • อุษารัตน์ คำทับทิม
  • อทิตยา ศิริภิญญานนท์